วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทความภาษาไทย


"กบในกะลาครอบ"
จากบทความ ฝ่าเปลวแดด ผู้เขียน ดาวประกายพรึก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ ๒๑,๘๑๔ วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ หน้า ๘ ชื่อบทความ "กบในกะลาครอบ"
พูดถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ ๒ แห่ง การไฟฟ้านครหลวง กับการประปานครหลวง มีงานมั่นคง สวัสดิการเพียบ ที่ กฟน. เงินเดือนเฉลี่ยพนักงานทั่วไปคือ ๓ หมื่นกว่าบาท ส่วนผู้บริหาร เงินเดือนทะลุแสนต้น ๆถึงแสนปลาย ๆเปรียบเทียบแรงงานกว่า ๑,๙๐๐ คน ของโรงงานไทรอัมพ์ กำลังตกงานเพราะบริษัทอ้าง ต้องลดขนาดองค์กร เนื่องจากคำสั่งซื้อน้อยลง ภาวะที่รัฐบาลถังแตก มองยังไงจึงไร้เหตุผลที่จะให้ค่าครองชีพกับคนเงินเดือนต่ำกว่า ๕ หมื่นกว่าบาทลงมาทุกคน คนละ ๒,๐๐๐ บาทเป็นเวลา ๑ ปี และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อีก ๗ แห่งก็จะเอาตาม เข้ายุค มือใครยาวสาวงได้สาวเอา ที่ท่านนายกไม่ยอมจึงถูกต้องแล้ว เอาแต่พอดีเถอะพ่อคุณ รู้จักอยู่แบบพอเพียง มองออกไปรอบตัวบ้างเถอะ อย่าทำตัวแบบ กบในกะลาครอบ
จากบทความข้างต้น เป็นหัวข้อข่าวที่นักเรียนออกมาเล่า ที่มีสำนวนที่ชวนคิด คือ
มือใครยาวสาวได้สาวเอา หมายถึง ต่างคนต่างฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ใส่ตัว ... กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้และประสบการณ์ ...คนที่ขาดวิสัยทัศน์มองเห็นแต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเท่านั้น

(ที่มาภาพ http://pasathai01.exteen.com/20070120/entry)
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จึงได้วิเคราะห์ความหมายของสำนวนในบทความ และศึกษาใบความรู้
สำนวน คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นโดยมีความหมายพิเศษ ไม่ครงกับความหมายที่ใช้ตามปกติ ทั้งนี้อาจจะเป็นคำที่มีความหมายโดยนัย หรือความหมายในเชิงเปรียบเทียบ เป็นลักษณะคำพูดที่รวมใจความยาว ๆ ให้กะทัดรัด บางสำนวนอาจหมายถึงสุภาษิตและคำพังเพยด้วย เช่น
ลักษณะสำนวนไทย
๑. มีความหมายโดยนัย คือความหมายไม่ตรงตัวตามความหมายโดยอรรถ พูดอย่างหนึ่งมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น กินปูนร้อนท้อง - รู้สึกเดือดร้อนเพราะมีความผิดอยู่ ขนทรายเข้าวัด - ร่วมมือร่วมใจกันทำบุญ เป็นต้น
๒. ใช้ถ้อยคำกินความมาก การใช้ถ้อยคำในสำนวนส่วนใหญ่เข้าลักษณะใช้คำน้อยกินความมาก เนื้อความมีความหมายเด่น เช่น ก่อหวอด ขึ้นคาน คว่ำบาตร ขมิ้นกับปูน คมในฝัก กิ้งก่าได้ทอง ใกล้เกลือกินด่าง เด็ดบัวไว้ใย ซึ่งล้วนมีความหมายอธิบายได้ยืดยาว ส่วนที่ใช้ถ้อยคำหลายคำ แต่ละคำก็ล้วนมีความหมายและช่วยให้ได้ความกระจ่างชัดเจน
๓. ถ้อยคำมีความไพเราะ การใช้ถ้อยคำในสำนวนไทยมักใช้ถ้อยคำสละสลวยมีสัมผัสคล้องจอง เน้นการเล่นเสียงสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ให้เสียงกระทบกระทั่งกัน เกิดความไพระน่าฟังทั้ง สัมผัสภายในวรรคและระหว่างวรรค มีการจัดจังหวะคำหลายรูปแบบ เช่น เป็นกลุ่มคำซ้อน ๔ คำ อย่าง ก่อกรรมทำเข็ญ ก่อร่างสร้างตัว คู่ผัวตัวเมีย คู่เรียงเคียงหมอน คำซ้อน ๖ คำ เช่น ขิงก็ราข่าก็แรง ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น ยุให้รำตำให้รั่ว ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง คำซ้อน ๘ คำ หรือมากกว่าบ้าง เช่น ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง กำแพงมีหูประตูมีตา เป็นต้น ลักษณะสัมผัสคล้องจองเป็นร้อยกรองง่ายๆ หลายรูปแบบ มีทั้งคล้องจองกันในข้อความตอนเดียว เช่น ตื่นก่อนนอนหลัง ต้อนรับขับสู้ ผูกรักสมัครใคร่ โอภาปราศรัย และคล้องจองในข้อ ความที่เป็น ๒ ตอน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและในข้อความมากกว่า ๒ ตอน เช่น น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง เป็นต้น
๔. สำนวนไทยมักมีการเปรียบเปรย หรือมีประวัติที่มา ส่วนใหญ่มาจากการเปรียบเทียบกับ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ประเพณี ศาสนา นิยาย นิทานต่างๆ กิริยาอาการ และส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตัวอย่างเช่น กลับหน้ามือเป็นหลังมือ นอนตาไม่หลับ ใจดีสู้เสือ กินไข่ขวัญ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เป็นต้น
บ่อเกิดสำนวนไทย

(ที่มาภาพ http://www.thaigoodview.com )
ที่เกิดสำนวนไทยมีมูลเหตุจากหลายทางด้วยกัน เป็นต้นว่า เกิดจากธรรมชาติ เกิดจากการ กระทำ ความประพฤติ การกินอยู่ของคน เกิดจากแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรม เกิดจาก ศาสนา เกิดจากนิยาย นิทาน ตำนานหรือประวัติวัติศาสตร์ เกิดจากกีฬา การละเล่นหรือการ แข่งขันละมูลเหตุอื่นๆอีกซึ่งพอสรุปประการสำคัญ ๆ เป็นตัวอย่างได้ดังนี้
๑. เกิดจากธรรมชาติ เช่น ข้าวคอยฝน ฝนตกไม่ทั่วฟ้า คลื่นใต้น้ำ น้ำซึมบ่อทราย ไม้งามกระรอกเจาะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
๒. เกิดจากสัตว์ เช่น ไก่แก่แม่ปลาช่อน ขี่ช้างจับตั๊กแตน ปลากระดี่ได้น้ำ วัวแก่เคี้ยวหญ้าอ่อน เสือซ่อนเล็บ หมาหยอกไก่
๓. เกิดจากการกระทำ ความประพฤติ การปฏิบัติและการกินอยู่ของคน เช่น ขึ้นต้นไม้ปะรังแตน ขึ้นต้นไม้ช่วยแรงคาถา ไกลปีนเที่ยง ปิดทองหลังพระ ชักใบให้เรือเสีย พายเรือคนละที นอนตาไม่หลับ หาเช้ากินค่ำ
๔. เกิดจากอวัยวะต่างๆ เช่น ใจลอย ตาเล็กตาน้อย ตีนเท่าฝาหอย ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มืออยู่ไม่สุข หัวรักหัวใคร่
๕. เกิดจากของกินของใช้ เช่น ข้าวแดงแกงร้อน ไข่ในหิน ฆ้องปากแตก ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ลงเรือลำเดียวกัน บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอน
๖. เกิดจากแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรม เช่น ช้างเท้าหลัง ตื่นก่อนนอนหลัง เข้าตามตรอกออกตามประตู เป็นทองแผ่นเดียวกัน ฝังรกฝังราก คนตายขายคนเป็น
๗. เกิดจากศาสนา เช่น กรวดน้ำคว่ำขัน ขนทรายเข้าวัด ตักบาตรถามพระ บุญทำกรรมแต่ง เทศน์ไปตามเนื้อผ้า ผ้าเหลืองร้อน
๘. เกิดจากนิทาน ตำนาน วรรณคดี หรือประวัติศาสตร์ เช่น กระต่ายหมายจันทร์ กบเลือกนาย ชักแม่น้ำทั้งห้า ฤษีแปลงสาร ดอกพิกุลจะร่วง ปากพระร่วง
๙. เกิดจากการละเล่น กีฬาหรือการแข่งขัน เช่น ไก่รองบ่อน งงเป็นไก่ตาแตก รุกฆาต ไม่ดูตาม้าตาเรือ ว่าวขาดลมลอย
ประโยชน์ในการศึกษาสำนวนโวหาร
๑. ทำให้ใช้ภาษาในการเขียน ความเรียงต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับความ เรียงที่เขียนขึ้น
๒. ทำให้ได้คติสอนใจ ในด้านต่างๆ เช่น
- ด้านการเรียน ตัวอย่างๆ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม” “ความรู้ท่วม หัวเอาตัว ไม่รอด”
- ด้านการคบค้าสมาคม ตัวอย่าง “คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ” “คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้าน สร้างเมือง”
- ด้านการครองเรือน ตัวอย่าง “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน”
- ด้านความรัก ตัวอย่าง “ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน” “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
๓. ทำให้ทราบความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในสมัยที่เกิดสำนวนโวหารนั้น ว่ามีความเป็นอยู่ อย่างไร เช่น “อัฐยายซื้อขนมยาย” “แบ่งสันปันส่วน” “หมูไปไก่มา”
๔. เป็นการรักษาวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าของไทยไว้ให้ลูกหลานภาคภูมิใจ
ประเด็นคำถามที่นำไปอภิปราย
๑. อภิปรายลักษณะสำนวนไทย ๒. อภิปรายบ่อเกิดสำนวนไทย ๓. อภิปรายประโยชน์ในการศึกษาสำนวนโวหาร ๔. รวบรวมสำนวนจัดทำเป็นหมวดหมู่
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. คลิกดูแผนการจัดการเรียนรู้สำนวนภาษาไทย ๒. คลิกดูเอกสารประกอบการเรียนการสอนเรื่องสำนวนภาษา
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาอังกฤษ : เขียนสำนวนภาษาอังกฤษที่ตรงกับภาษาไทย คณิตศาสตร์ : เขียนสำนวนไทยที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ สังคม : เขียนเรื่องเกี่ยวกับเศรฐกิจพอเพียง และระบุสำนวนไทย ศิลปะ : วาดภาพระบายสีสำนวนไทย วิทยาศาสตร์ : เขียนสำนวนไทยที่ตรงกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น